หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

พระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่




วัดพระธาตุดอยสุเทพ หรือ ที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “ วัดดอยสุเทพ ” นั้น เป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นราชวรวิหาร ตั้งอยู่บนดอยสุเทพ ( สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๓ , ๐๕๑ ฟุต ) เลขที่ ๑๒๔ บ้านดอยสุเทพ หมู่ที่ ๙ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๓๖ ไร อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย ( ดูเพิ่มที่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย ) อนึ่ง วัดแห่งนี้สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
          ชื่อของดอยสุเทพนี้เดิมเรียกกันหลายชื่อ นอกจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีชื่อ อุจฉุบรรพต ดอยอ้อยช้าง และดอยกาละ สาเหตุที่ได้ชื่อว่า “ วัดพระธาตุดอยสุเทพ ” สันนิษฐานว่าเดิมมีฤาษีตนหนึ่งชื่อวาสุเทพหรือสุเทวฤาษี ( เชื่อกันว่ามีตัวตนจริง เพราะเป็นผู้สร้างนครหริภุญชัยเมื่อ พ . ศ . ๑๒๐๔ : อ้างตาม ชินกาลมาลีปกรณ์ ) มาบำเพ็ญตบะอยู่บนเขาลูกนี้ คนทั้งหลายจึงเรียกชื่อภูเขาตามชื่อฤาษีตนนั้น
  • วัดพระธาตุดอยสุเทพมีประวัติความเป็นมา ดังนี้คือ
          สร้างขึ้นเมื่อ พ . ศ . ๑๙๒๖ ในสมัยของพระญากือนามหาราชและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ . ศ . ๒๐๑๐ โดยมีตำนานที่เล่าเกี่ยวกับวัดพระธาตุดอยสุเทพไว้ว่า ในสมัยพระญากือนา กษัตริย์องค์ที่ ๖ แห่งราชวงศ์มังราย ( ครองราชย์ พ . ศ . ๑๘๙๘ - ๑๙๒๘ ) ผู้ทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์บนดอยสุเทพ โดยทรงนิมนต์พระมหาสุมนเถระเจ้าจากเมืองสุโขทัยให้มาประกาศศาสนาที่เมือง เชียงใหม่ และในครั้งนั้น พระมหาสุมนเถระเจ้าได้นำเอาพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้ามาด้วย พระญากือนาเกิดความเลื่อมใสมาก จึงโปรดให้มีพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุเพื่อจะได้อัญเชิญไปบรรจุไว้ในสถูปเจดีย์ ของวัดบุปผาราม ในขณะที่กระทำพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุอยู่นั้นเอง พระบรมธาตุได้แยกออกเป็นสองส่วน พระญากือนากับพระมหาสวามีสุมนะจึงได้พร้อมใจกันทำพิธีบรรจุพระบรมธาตุองค์ ใหม่ไว้ที่วัดสวนดอก ส่วนพระบรมธาตุองค์เดิมนำไปประดิษฐานไว้ที่ดอยสุเทพ โดยเริ่มจากการอัญเชิญผอบพระบรมสารีริกธาตุขึ้นสถิตเหนือเศวตคชาธารช้างมงคล แล้ว อธิษฐานเสี่ยงช้างพระที่นั่งปล่อยไป หากพระบรมธาตุประสงค์จะสถิตอยู่ ณ ที่ใด ก็ขอให้ช้างมงคลหยุด ณ ที่แห่งนั้น และในระหว่างทางที่ช้างมงคลเดินทางไป ก็ได้หยุดเดินถึงสามครั้งทำให้เกิดชื่อของดอยช้างนูนและดอยงาม ครั้งที่สามซึ่งถือเป็นครั้งสำคัญ เนื่องจากช้างมงคลได้ไต่เขาไปจนถึงยอดดอยวาสุเทพบรรพตแล้วร้องเสียงดังจน ก้องสะท้านไปทั่วภูเขา เมื่อเดินประทักษิณ ๓ รอบแล้วจึงคุกเข่าหมอบลง และทันทีที่อาราธนาพระบรมธาตุลงจากหลังแล้ว ช้างมงคลนั้นล้มลงตายในทันที ซึ่งหมายความว่าจะไม่ยอมเป็นพาหนะของผู้ใดอีก
          เหตุการณ์ในครั้งนั้นปรากฏใน พงศาวดารโยนก ว่า “… พระเจ้านครเชียงใหม่ให้สร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุองค์หนึ่งซึ่ง เสด็จมาใหม่ไว้ในวัดบุปผารามนั้น ส่วนพระบรมธาตุองค์เดิมซึ่งพระมหาสุมนะเถระนำมาจากเมืองสุโขทัยนั้น เมื่อจะแสวงหาที่อันสมควรสร้างพระสถูปเจดีย์จึงเชิญผอบพระบรมธาตุขึ้นสถิต เหนือพระคชาธาร อธิษฐานเสี่ยงช้างพระที่นั่งปล่อยไป ช้างทรงพระบรมธาตุนั้นก็บ่ายหน้าเดินออกประตูหัวเวียงไปขึ้นสู่ดอยอุจฉุ บรรพต ( ดอยสุเทพ ) ไปถึงผาลาดก็หยุดรออยู่ครู่หนึ่ง ก็ขึ้นต่อไปจนถึงจอมเขาแล้วก็หยุดอยู่ ณ ที่นั้น พระเจ้านครพิงค์เชียงใหม่กับพระมหาสุมนะเถระจึงพร้อมใจกันสร้างพระเจดีย์ บรรจุพระบรมธาตุนั้นไว้ ณ จอมเขาที่นั้น ในปีชวด อัฐศก จุลศักราช ๗๔๘ พิศาขมาส เพ็ญวันพุธ จันทร์เสวยฤกษ์ ๑๖ เป็นฤกษ์สถาปนาพระเจดีย์ธาตุสุเทพอันปรากฏอยู่ ณ จอมเขาหลังเมืองเชียงใหม่สืบมาจนทุกวันนี้ ”
         

 การสร้างเจดีย์ ประดิษฐานพระบรมธาตุ เริ่มจากการขุดยอดดอยลึก ๓ ศอก แล้วเอาแท่งหินใหญ่ ๗ ก้อนมากรุเป็นผนังเหมือนหีบใบใหญ่ เมื่อนำพระบรมธาตุลงวางแล้วใช้หินถมทับให้แน่นหนาจนถึงปากแล้วจึงก่อสถูปสูง ๕ วา ครอบปากหลุมไว้อีกชั้นหนึ่ง พระเจดีย์องค์นี้สร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อ พ . ษ . ๑๙๒๘ โดยมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสด้านละ ๓ วา สูง ๗ วา รูปทรงเป็นแบบรามัญ ต่อมาในสมัยพระเมืองแก้ว ( ระหว่าง พ . ศ . ๒๐๓๘ - ๒๐๖๘ ) มีการเสริมองค์พระเจดีย์ใหม่โดยขยายฐานออกไปด้านละ ๖ วา สูง ๑๒ วา นอกจากนี้ในรัชสมัยของพระเจ้าทรายคำ ( ประมาณปี พ . ศ . ๒๑๘๑ ) พระองค์ได้พระราชทานทองหนัก ๑ , ๗๐๐ บาท ให้ตีแผ่นเป็นทองจังโกปิดพระบรมธาตุ อนึ่ง ในปี พ . ศ . ๒๐๘๘ มีการก่อสร้างวิหารและในปี พ . ศ . ๒๑๐๐ พระมหามงคลโพธิเป็นผู้อำนวยการก่อสร้างบันไดนาคซึ่งสูง ๓๐๐ ขั้นทอดยาวขึ้นไปสู่วัด นอกจากนี้ในสมัยของพระเจ้ากาวิละมีการสร้างวิหารขึ้น ๒ หลัง ทางทิศตะวันตกและตะวันออกของพระบรมธาตุ ตลอดจนทำการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระบรมธาตุด้วยการสร้างฉัตรโลหะปักไว้ที่มุม และสร้างรั้วเหล็กล้อมรอบองค์พระธาตุ
          จากนั้นก็ได้สร้างถนน ขึ้นสู่ดอยสุเทพ เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ . ศ . ๒๔๗๗ สำเร็จสมบูรณ์ในเดือนเมษายน พ . ศ . ๒๔๗๘ รวมระยะทางทั้งสิ้น ๑๑ กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง ๕ เดือน กับอีก ๒๒ วัน โดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านทั่วภาคเหนือ และมีท่านครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ ร่วมกับเจ้าแก้วนวรัฐซึ่งเป็นประธานฝ่ายฆราวาส
          อาคารเสนาสนะโบราณวัตถุและปูชนียวัตถุ ของวัดประกอบด้วยอุโบสถทรงล้านนา ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังภาพประวัติพระธาตุดอยสุเทพ พระวิหาร ๒ หลัง ด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธ ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพฤหัส ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์จำนวน ๓๐ หลัง ศาลาที่พักประชาชนหอฉัน สำนักชี ห้องสมุด หอพิพิธภัณฑ์ พระประธานในอุโบสถ พระพุทธรูปแบบพระสิงห์นั่งขัดสมาธิเพชร อนุสาวรีย์ช้างมงคล ( ช้างพระที่นั่งของพระเจ้ากือนาที่บรรทุกโกศพระบรมธาตุเสี่ยงทายขึ้นมาบนดอย สุเทพ ) อนุสาวรีย์พระสุเทวฤาษี บันไดนาคซึ่งตัวนาคยาวถึง ๖๐ วา ตลอดจนปูชนียวัตถุที่สำคัญมากของวัดพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งได้แก่ พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของเจดีย์แบบสุโขทัยที่เข้ามาสู่อาณาจักรล้านนาใน สมัยนั้น ลักษณะโดยละเอียดขององค์เจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุ คือ องค์เจดีย์มีเนื้อที่ฐานด้านละ ๖ วา รวม ๔ ด้าน เป็นเนื้อที่ ๓๖ ตารางวา
          สำหรับสังเวียนเหล็ก ( รั้วเหล็ก ) ซึ่งมีขนาดด้านละ ๗ วา นั้น ด้านตะวันออกมีซี่ ๑๒๐ เล่ม ด้านตะวันตกมี ๑๓๓ เล่ม ด้านใต้มี ๑๓๐ เล่ม และด้านเหนือมี ๑๒๐ เล่ม รวมทั้ง ๔ ด้านเป็นจำนวน ๕๐๓ เล่ม นอกจากนี้ มีปราสาทอยู่ทั้ง ๔ มุม ราวเทียนอีกด้านละ ๙ วา ๓ ศอก รวม ๔ ด้านได้ ๓๙ วา อนึ่ง ด้านตะวันออกมีประทีปทอง ๒๙ ดวง ด้านตะวันตก ใต้ และเหนือมีทิศละ ๒๗ ดวง ที่มุมทั้ง ๔ มีอีกมุมละ ๔ ดวง รวมทั้งหมดมี ๑๑๓ ดวง

คำนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพมีด้วยกัน ๕ บท คือ
บทที่ ๑ คำนมัสการเฉพาะองค์พระธาตุ “ สุวรรณเจติยัง เกชาวะระ มัตถะลุงคัง วะรัญญะ ธาตุง สุเทเวหิ สัพพบูชิตัง นะราเทเวหิ อะหัง วันทามิ ธาตุโย ”
บทที่ ๒ คำนมัสการองค์พระธาตุด้านทิศตะวันออก “ ปัญญาวะสมิง เยวะจันทิมา ทาวัยยะ ”

บทที่ ๓ คำนมัสการองค์พระธาตุด้านทิศใต้ “ ปิตะกะตะเย สาสะนิยา นิเกติ ”

บทที่ ๔ คำนมัสการองค์พระธาตุด้านทิศตะวันตก “ โมณะ ปะถะ มะวะลัง ปาปายะฌานัง อะระหัง สังฆะ โสปานัง ”

บทที่ ๕ คำนมัสการองค์พระธาตุด้านทิศเหนือ “ ปะถะมัง อุปัชฌัง คาหาเปตะวา ปัตตะจีวะรัง ยังยัง ฌาตังตัง สังฆมัชเฌ ปุจฉาสวานะ ”
อนึ่ง ทุก ๆ ปี จะมีงานประเพณีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยสุเทพซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือน ๖ และวันเพ็ญ เดือน ๗ หรือวันวิสาขบูชา
          นอกจากปูชนียวัตถุ สถานที่ได้กล่าวถึงข้างต้น วัดพระธาตุดอยสุเทพยังมีโบราณสถานในเขตระเบียงคดโดยรอบซึ่งได้รับการประกาศ ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ ลงวันที่ ๘ มีนาคม พ . ศ . ๒๔๗๘
สำหรับอาวาสรูปสำคัญ ของวัดพระธาตุดอยสุเทพได้แก่ ครูบาเถิ้ม ( พ . ศ . ๒๔๗๕ – ๒๔๗๙ ) พระครูอนุสรณ์ศีลขันธ์ ( ชมพู ) ( พ . ศ . ๒๔๗๙ – ๒๔๙๔ ) พระเทพวิสุทธาจารย์ ( อินสม อาคาร ) ( พ . ศ . ๒๔๙๔ – ๒๕๒๓ ) พระสุเทพสิทธาจารย์ ( คำ ธัมมะจาโร ) ( พ . ศ . ๒๕๒๓ – ๒๕๓๙ ) และเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพองค์ปัจจุบัน ( พ . ศ . ๒๕๓๙ ) คือ พระราชรัตนากร
          นอกจากวัดพระธาตุ ดอยสุเทพจะมีความสำคัญต่อจิตใจของประชาชนชาวเชียงใหม่ในฐานะที่เป็นศาสนสถาน อันควรเคารพแล้ว ยังมีความสำคัญทางด้านการศึกษาอีกด้วย คือมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลี อีกทั้งวัดนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จากเหล่าเจ้านายผู้ครองเมืองมาโดยตลอด จึงทำให้ทางวัดได้รับพระราชทานให้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นราชวรวิหาร เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ . ศ . ๒๕๐๖

ข้อมูลอ้างอิง : http://www.doisuthep.com
ข้อมูลภาพ : http://www.zidopics.com/webboard/index.php?topic=599.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น